ด้วยต้องการเปิดกว้างผลงานศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ทุกแขนง ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี วิทยาศาสตร์ การแสดง งานเขียน (วรรณกรรม) สถาปัตยกรรม รวมถึงงานสร้างสรรค์อื่น ๆ กอปรกับต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ ศิลปินรุ่นใหม่และศิลปินที่มีชื่อ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองทางศิลปวัฒนธรรม ระหว่างผู้คนในวงการศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางกอก คุนส์ฮาเลอ (BANGKOK KUNSTHALLE) จึงเตรียมพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแห่งใหม่ใจกลางเยาวราช ที่เปี่ยมด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ ก่อตั้งโดย คุณมาริษา เจียรวนนท์ และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2567
ล่าสุดชวนสัมผัสประสบการณ์ใหม่ของการรับชมนิทรรศการ ‘nostalgia for unity’ ผลงานของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ โดยมี สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา, ชวิศ เจียรวนนท์ และเจมมิกา สินธวาลัย ร่วมเป็นภัณฑารักษ์ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2567
กรกฤต อรุณานนท์ชัย ได้เข้าร่วมแสดงมหกรรมศิลปะร่วมสมัยล่าสุดที่ Thailand Biennale จังหวัดเชียงราย (พ.ศ. 2566) เขามักจะสร้างสรรค์ผลงานจากการสำรวจประเด็นที่เคลื่อนไหวอยู่รอบตัวในสังคม ทั้งประเด็นด้านความเชื่อ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ปรัชญาเกี่ยวกับเวลาและชีวิต เขายังพัฒนาผลงานศิลปะที่หลากหลาย เช่น งานจิตรกรรม ภาพเคลื่อนไหว ศิลปะภาพถ่าย และศิลปะกาารแสดง (Performance Art) “nostalgia for unity” เผยให้เห็นจุดเปลี่ยนของแนวทางการสร้างสรรค์ผลงาน โดยกรกฤตได้ใช้พื้นที่เว้นว่าง (Negative Space) เป็นสื่อสำคัญของการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ทั้งยังเป็นงานจิตรกรรม ภาพยนตร์ เวที และบทหนัง ที่กระตุ้นเร้าให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงการไม่มีอยู่ ในที่นี้กรกฤตมองว่า สิ่งไร้ตัวตนที่สิงอยู่ในผลงานของเขาคือ ‘นกฟีนิกซ์’ โดยมีบทภาพยนตร์ทำหน้าที่เป็นเส้นกั้นระหว่าง “สิ่งที่ได้รับการยินยอม” กับ “สิ่งที่มิอาจกล่าวถึง” ระหว่างหลายเส้นเวลาที่ต่างกัน ระหว่าง “ผู้คน” กับ “สิ่งที่มองไม่เห็น” ถึงอย่างนั้น เราก็ยังอยากเชื่อว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง ถ้อยคำเหล่านี้เป็นดั่งพลังงานที่มอบชีวิตกลับคืนสู่เถ้าธุลี
ในนิทรรศการนี้ คุณกรกฤต ยังได้ชวนย้อนกลับมาสำรวจแกนความคิดเดิมในงานของเขา เช่น การทับซ้อนกันของจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ความเสื่อมสลายและการเกิดใหม่ ความเชื่อมโยงระหว่างการรู้แจ้งของปัจเจกบุคคลและจิตวิญญาณร่วมทางสังคม กรกฤตนำเรื่องราวความสัมพันธ์ของวิญญาณนิยมและคุณลักษณะของโบสถ์ มาสร้างพื้นที่การอยู่ร่วมกันขององค์ประกอบในการอธิษฐาน เจตนา และพิธีกรรม ทั้งหมดเชื่อมโยงกันผ่านบรรดาร่างผู้ชมที่เคลื่อนผ่านพื้นที่
นอกจากนี้ คุณกรกฤต ยังได้แรงบันดาลใจจากประวัติความเป็นมาของอาคารไทยวัฒนาพานิช โรงพิมพ์หนังสือเรียนที่เขาเคยใช้สมัยยังเป็นนักเรียน กระทั่งปี พ.ศ. 2543 เมื่ออาคารเกิดเหตุเพลิงไหม้ ศิลปินมองว่าสถาปัตยกรรมนี้เปรียบเสมือนร่างยักษ์ที่กำลังสลายไปตามกาลเวลา เขาจึงสร้างหัวใจดวงใหม่ให้ร่างยักษ์จากเถ้าถ่านที่หลงเหลืออยู่ภายในอาคาร ก่อให้เห็นมวลที่มีลักษณะคล้ายเวที บทสวดถูกปั้นนูนออกมาจากพื้น แสงในห้องถูกกรองผ่านกระจกสีและหมอกควัน ชวนให้นึกถึงสีของมลพิษในอากาศจากนวนิยายไซไฟและความเป็นจริงในปัจจุบัน
นิทรรศการ “nostalgia for unity” เปิดให้เข้าชมฟรี (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 31 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 – 20.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร) ติดตามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ https://www.facebook.com/BangkokKunsthalle และ https://www.instagram.com/bangkok_kunsthalle/ การเดินทาง MRT สถานีหัวลำโพง ทางออก 2 และสามารถจอดรถยนต์ส่วนตัวได้ที่ลานจอดรถสถานีรถไฟหัวลำโพง หรือ Gorilla Parking (เดินเพียง 100 เมตร)